กรณีศึกษา เทมาเส็ก บริษัทแห่งชาติของสิงคโปร์

กรณีศึกษา เทมาเส็ก บริษัทแห่งชาติของสิงคโปร์

18 ธ.ค. 2018
กรณีศึกษา เทมาเส็ก บริษัทแห่งชาติของสิงคโปร์ / โดย ลงทุนแมน
คงไม่มีใครไม่รู้จัก AIS เครือข่ายมือถือรายใหญ่ของประเทศไทย ที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท
แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทนี้คือ Singapore Telecommunications Limited หรือ Singtel
ซึ่งเจ้าของ Singtel คือ เทมาเส็ก (Temasek Holdings)
และ เทมาเส็ก เป็นบริษัทแห่งชาติของสิงคโปร์
ซึ่งเรียกได้ว่า คนสิงคโปร์ทุกคนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ AIS ทางอ้อมนั่นเอง
แล้ว เทมาเส็ก คือใคร?
ทำไมถึงบอกว่า เทมาเส็ก เป็นของคนสิงคโปร์ทุกคน?
เรื่องนี้อาจจะต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1974
ในสมัยนั้น สิงคโปร์ต้องประสบปัญหาครั้งใหญ่ในเรื่องของคอร์รัปชัน
ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้ว การคอร์รัปชันของสิงคโปร์อาจจะถูกจัดอยู่อันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ที่นำโดย ลี กวน ยู จึงได้แก้ปัญหานี้ด้วยการจัดตั้ง บริษัท เทมาเส็ก ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดยรัฐบาลสิงคโปร์ขึ้นมา
บริษัท เทมาเส็ก มีหน้าที่เข้ามาดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่ประกอบการเชิงพาณิชย์ แต่จุดเด่นของเทมาเส็กก็คือ มีการบริหารในลักษณะขององค์กรเอกชนทั่วๆ ไป
บริษัทนี้มีกรรมการมาจากหลายภาคส่วน ที่ไม่จำกัดแค่คนในรัฐบาล
และที่สำคัญก็คือความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้มากกว่าระบบราชการนั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ..
เมื่อ 44 ปีที่แล้วกองทุน เทมาเส็ก เริ่มต้นด้วยเงินในกองทุนเพียง 354 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 8.5 พันล้านบาท
ขณะนี้กองทุน เทมาเส็ก มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 7.4 ล้านล้านบาท
ถ้าคิดเป็นตัวเลขแล้ว กองทุนนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 870 เท่าเลยทีเดียว
ผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุน เทมาเส็ก อยู่ที่ประมาณ 15% ต่อปี นับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุน ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
และถ้าเรามาดูการลงทุนของ เทมาเส็ก ก็จะพบว่าเงินลงทุนนั้นนอกจากจะอยู่ในบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจสิงคโปร์แล้ว จะอยู่ในบริษัทชั้นนำของหลายประเทศอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Celltrion, Singapore Airlines, Keppel Corporation, DBS Bank รวมถึง Singtel ที่เป็นเจ้าของบริษัท AIS และ Intouch Holdings เครือข่ายมือถือรายใหญ่ในประเทศไทย
มูลค่าหุ้นที่เทมาเส็กถือผ่าน Singtel ใน AIS และ Intouch รวมกันมีมูลค่ามากถึง 156,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ นอกจากเทมาเส็กแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีอีกการลงทุนในลักษณะนี้อีกหนึ่งองค์กร
องค์กรนั้นคือ GIC Private Limited (ชื่อเดิมคือ Government of Singapore Investment Corporation)
GIC มีหน้าที่หลักคือการบริหารกองทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยจุดประสงค์เพื่อรักษาอำนาจซื้อของเงินตราต่างประเทศในระยะยาว โดย GIC จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ
ถ้ารู้ข้อมูลนี้หลายคนอาจตกใจว่า GIC เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลายบริษัทของประเทศไทย เช่นกัน
เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 ในบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์
เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 5 ในบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร
เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 8 ในธนาคารกสิกรไทย
เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 8 ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 9 ในบริษัท ปตท.
เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 10 ในบริษัทซีพีออลล์
เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 11 ในธนาคารไทยพาณิชย์
เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 13 ในธนาคารกรุงเทพ
นอกจากนี้ยังมีบริษัทไทยอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่า GIC เป็นเจ้าของหลายบริษัทใหญ่ในประเทศไทย โดยที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ถ้าให้รวมมูลค่าหลักทรัพย์ในไทยที่ GIC ถืออยู่จะมีทั้งหมด 68,000 ล้านบาท
ถ้าให้รวมมูลค่าของ เทมาเส็ก และ GIC ทั้งสององค์กรนี้จะมีทรัพย์สินประมาณ 17 ล้านล้านบาท
จากประชากรของสิงคโปร์มีทั้งหมด 5.6 ล้านคน เปรียบเสมือนว่า คนสิงคโปร์จะมีทรัพยสินเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อคน จาก 2 องค์กรนี้
ทีนี้ก็น่าจะมาถึงคำถามที่หลายคนสงสัยแล้วว่า ประเทศไทยมีกองทุนลักษณะนี้หรือยัง?
คำตอบก็คือ.. ประเทศไทยยังไม่ได้มีการจัดตั้งใดๆ ที่เป็นองค์กรการลงทุนของชาติ
จะมีก็แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่รับหน้าที่ดูแลเงินสำรองระหว่างประเทศ
และ กระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจต่างๆ
อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยมีแผนที่จะจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบาย และกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนนี้มีอะไรบ้าง?
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท ขนส่ง จำกัด
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
รวมทั้งสิ้น 11 บริษัทที่คาดว่าน่าจะได้รับโอนจากกระทรวงการคลังมายังบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
การจัดตั้งครั้งนี้จะสำเร็จเหมือนกับ เทมาเส็ก หรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป..
----------------------
<ad> สำหรับผู้ที่สนใจการลงทุนหุ้นต่างประเทศกับหลักทรัพย์ฟิลลิป พร้อมบริการ Support 24 ชั่วโมง เริ่มต้นเพียง 50,000 บาท สนใจสอบถาม โทร. 02-6353055 หรือ GlobalMarkets@phillip.co.th
ติดตามข่าวสารการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ผ่านไลน์ที่ Line ID: @PhillipGlobal หรือกดลิงก์ https://bit.ly/2SGJwwj
----------------------
References
-www.nzsuperfund.co.nz
-https://www.temasek.com.sg/en/who-we-are/about-us.html
-https://www.swfinstitute.org/
-https://secure.mas.gov.sg/msb-xml/Report.aspx?tableSetID=IV&tableID=IV.7
-https://www.emeraldinsight.com/doi/abs/10.1108/13581981011019598?mobileUi=0&journalCode=jfrc
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.