กรณีศึกษา ธุรกิจ เซเว่นอีเลฟเว่น

กรณีศึกษา ธุรกิจ เซเว่นอีเลฟเว่น

19 ธ.ค. 2018
กรณีศึกษา ธุรกิจ เซเว่นอีเลฟเว่น / โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่าทุกวันที่ออกจากบ้าน เราเจออะไรบ่อยสุด
หนึ่งในคำตอบคงเป็น เซเว่นอีเลฟเว่น
การขยายธุรกิจของเซเว่น ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
เพราะในขณะที่หลายคนมองว่าเซเว่นในฐานะของผู้ประกอบการรายใหญ่
กำลังกินรวบธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบของร้านสะดวกซื้อ
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง
ก็ดูเหมือนว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังพึ่งพาเซเว่นอยู่เช่นกัน..
เซเว่น ตอนนี้มีกี่สาขา?
ปี 2016 เซเว่นมี 9,542 สาขา มีสาขาเพิ่มจากปีก่อน 710 สาขา
ปี 2017 เซเว่นมี 10,268 สาขา มีสาขาเพิ่ม 726 สาขา
ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2018 เซเว่นมี 10,902 สาขา มีสาขาเพิ่ม 634 สาขา
โดยจำนวนนี้ จะแบ่งเป็นร้านที่บริษัท ซีพี ออลล์ เปิดเองจำนวน 4,894 สาขา
ส่วนอีก 6,008 สาขา จะเป็นแฟรนไชส์ซึ่งก็คือนักลงทุนรายย่อยในพื้นที่ต่างๆและร้านค้าที่ได้รับสิทธิ์ช่วงอาณาเขต
ถ้าดูจากจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ก็คงไม่น่าแปลกใจที่เราไปไหนก็เจอแต่ร้านเซเว่นจนคุ้นตา
เรื่องนี้น่าจะถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในโลกธุรกิจ
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน
เมื่อ “เวลา” ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตคนเรา
เซเว่น ซึ่งเห็นโอกาสในเรื่องนี้ ก็เลือกที่จะขยายธุรกิจให้ลูกค้าสามารถซื้อหรือทำอะไรได้หลายอย่างในที่เดียว ไม่ต้องไปหลายที่ซึ่งทำให้รู้สึกเสียเวลาในการเดินทาง
จากส่วนแบ่งมูลค่าตลาดที่มีการสำรวจมา
ร้านสะดวกซื้อมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกอยู่ที่ 17% ซึ่งเป็นอันดับ 3 รองจาก ร้านโชห่วยที่ 32.4% และ Hypermarket ที่ 18.4%
แล้วตอนนี้ เซเว่น มีธุรกิจอะไรบ้าง?
ถึงแม้ว่าบางบริการจะมีแค่ในบางสาขา แต่ก็คงเรียกได้ว่า เซเว่นแทบจะทำได้ทุกอย่างแล้ว
ซึ่งรูปแบบการขยายธุรกิจในลักษณะนี้ จริงๆ ก็ไม่ได้มีเพียงแค่เซเว่นเท่านั้น ร้านสะดวกซื้อหรือกลุ่ม modern trade อย่าง แฟมิลี่มาร์ท เทสโก้โลตัส และบิ๊กซี ก็เริ่มเพิ่มบริการให้หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน
แน่นอนว่าเมื่อรายใหญ่ทั้งหลายเข้ามาลงแข่งในสนามนี้ ก็ทำให้ผู้ประกอบการหรือร้านค้าไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบ
ในขณะเดียวกันก็จะมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้
ถ้ามองจากมุมมองของผู้ประกอบการที่มองหาช่องการขายสินค้า
ด้วยจำนวนสาขาและการเข้าถึงพื้นที่ เซเว่นน่าจะเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้าถึงคนได้มากที่สุด และกลายเป็นช่องทางเป้าหมายสำหรับเจ้าของธุรกิจหลายๆ คน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ยกตัวอย่าง สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ที่ใช้ช่องทางเซเว่นในการขยายตลาดและทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนปัจจุบันบริษัทนี้มีมูลค่าเป็นหมื่นล้าน และได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
อีกตัวอย่างก็คงจะเป็นชาวไร่ ที่ปลูกผักผลไม้ จากเดิมที่อาจขายได้ในเฉพาะพื้นที่เพาะปลูก ก็สามารถขายผ่านเซเว่นไปทั่วประเทศได้
ถึงแม้ว่า เซเว่น ในฐานะผู้ค้ารายใหญ่จะมีผลกับอำนาจการต่อรองเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับช่องทางการกระจายสินค้า
แต่ถ้าจะให้ SME ไปเปิดหน้าร้านเอง ก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะพวกเขาไม่มีตลาดที่ใหญ่หรือช่องทางที่มากพอที่จะไปถึงกลุ่มลูกค้าได้
สำหรับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยก็เช่นกัน
บางคนอาจคิดว่าได้รับผลกระทบจากเซเว่นที่มาแย่งขายสินค้า
แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่หน้าร้านเซเว่นที่เปิดไฟตลอด 24 ชั่วโมง ก็ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ขายของชั้นดีสำหรับพ่อค้ารายเล็กๆอีกหลายคน
ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในตอนนี้เซเว่นได้กลายเป็นศูนย์กลางชุมชนไปในหลายทำเลแล้ว จนบางคนก็ตัดสินความเจริญของชุมชนด้วยการดูว่ามีเซเว่นมาเปิดหรือไม่
ที่ไหนมีเซเว่นเปิดอยู่ ก็จะมีคนเดินผ่านไปผ่านมามากขึ้นด้วย
สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับมุมมองส่วนบุคคล ว่าเป็นอย่างไร
ในโลกนี้
เรื่องเดียวกัน บางครั้งก็มีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เมื่อมองจากคนละมุม
ถ้าเซเว่นมาเปิดในชุมชนของเรา
ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งกลัวเสียประโยชน์ เพราะเซเว่นจะมาแย่งขายสินค้า
ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังคิดว่าเป็นโอกาสเพราะจะมีชุมชนที่ใหญ่ขึ้นในบริเวณนั้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ตอนนี้เซเว่นมีทั้งหมด 10,902 สาขา
โดยเฉลี่ยแล้ว 1 สาขาของเซเว่นจะขายได้วันละ 79,772 บาท
และลูกค้ามียอดซื้อต่อบิล 69 บาท..
----------------------
อ่านเรื่อง เซเว่นกำลังเป็นไปรษณีย์ ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5be14a23c29e290fa0bf6313
ติดตามเรื่องราวของบริษัทชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่ของคนไทย โหลดฟรี blockdit.com
----------------------
References
-CP ALL 3Q18 Performance Highlights
-รายงานประจำปี บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
-ศูนย์บริการลูกค้าเซเว่นอีเลฟเว่น
-ข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจค้าปลีก บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.