กรณีศึกษา E-commerce ทำลายห้างค้าปลีก ในสหรัฐอเมริกา

กรณีศึกษา E-commerce ทำลายห้างค้าปลีก ในสหรัฐอเมริกา

27 พ.ย. 2018
กรณีศึกษา E-commerce ทำลายห้างค้าปลีก ในสหรัฐอเมริกา / โดย ลงทุนแมน
ดูเหมือนว่าในบ้านเรา E-commerce
จะยังไม่ได้กระทบอุตสาหกรรมค้าปลีกเท่าไรนัก
แต่สำหรับในสหรัฐอเมริกา คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า
E-commerce ได้ทำลายร้านค้าต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แล้วมีร้านค้าไหนบ้างที่อยู่รอดในสหรัฐอเมริกา?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เมื่อเร็วๆ นี้ห้างสรรพสินค้าที่เป็นข่าวดังที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ห้าง Sears
Sears อดีตห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่เคยมีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านบาทได้ประกาศขอยื่นล้มละลายเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจาก การแย่งตลาดของ E-commerce ในขณะที่ Sears เลือกที่จะลงทุนในธุรกิจเดิม ส่งผลให้การขยายตัวของ Sears ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนคุ้มกับการลงทุน
สภาพคล่องของ Sears จึงลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการต่อได้
แต่สงสัยกันไหมว่า นอกจาก Sears ที่ล้มละลายแล้ว ผู้ประกอบการค้าปลีกเจ้าอื่นเป็นอย่างไรกันบ้าง?
Macy’s ธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่ไม่แตกต่างจาก Sears และเป็นคู่แข่งกันคนสำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่ากิจการของ Macy’s ก็ไม่ได้ดีไปกว่า Sears เท่าไรนัก จากห้างสรรพสินค้าที่เคยมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากกลับกลายเป็นห้างร้าง
พอไม่มีลูกค้าแล้ว Macy’s เองก็เริ่มแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหวจนต้องทำการปิดสาขากว่า 120 สาขาในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
แต่นั่นก็ถือว่า Macy’s คิดถูกเลยทีเดียว เพราะการปิดสาขาเป็นจำนวนมากทำให้ประหยัดเงินไปได้มากถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ไม่เพียงเท่านั้น Macy’s ยังได้เริ่มโมเดลธุรกิจใหม่หลายๆ อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนเพื่อที่จะทำให้บริษัทอยู่รอด
เช่น shop-in-shop เป็นการเปลี่ยนพื้นที่โล่งภายในห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่า คล้ายๆ กับคูหาขายของที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าบ้านเรา
in-store pop-up concept เป็นการช่วยให้แบรนด์และบริษัทที่สนใจ สามารถขายผลิตภัณฑ์และบริการของตนได้ที่ชั้นล่างของห้างสรรพสินค้า
และล่าสุดทาง Macy’s เองก็ได้ประกาศโครงการ "Growth50" ซึ่งเป็นการคัดเลือกร้านค้าที่น่าจะสามารถทำกำไรได้ดี โดยจับกลุ่มไปที่สินค้าแบรนด์หรูเป็นหลัก รวมถึงการทดลองธุรกิจใหม่ๆ อย่างการเป็นสถานที่รับของจากการสั่งซื้อออนไลน์ได้อีกด้วย
มีผลสำรวจรายงานว่า ความพึงพอใจของลูกค้า Macy’s ที่อยู่ใน “ระดับดี” ขึ้นไป สูงขึ้นจาก 59% ในปีที่แล้วมาอยู่ที่ 67% ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มที่สดใสขึ้นของ Macy’s
นอกจาก Macy’s แล้วผู้ประกอบการธุรกิจรายอื่นๆ ปรับตัวอย่างไรบ้าง?
Kohl’s ปรับตัวด้วยการลดพื้นที่ในการเก็บสินค้าลงและปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการเก็บสินค้าให้กลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก เพื่อที่จะดึงดูดให้ลูกค้ามาเดินที่ห้างสรรพสินค้าบ่อยขึ้น
ส่วน Nordstrom ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการลดขนาดของห้างสรรพสินค้าลงเพื่อการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น
แล้วกำไรของบริษัทเหล่านี้เป็นอย่างไร
ปี 2017
Sears รายได้ 728,920 ล้านบาท ขาดทุน 73,090 ล้านบาท
Macy’s รายได้ 848,750 ล้านบาท กำไร 20,410 ล้านบาท
อัตราส่วนกำไรต่อรายได้อยู่ที่ 2.4%
Kohl’s รายได้ 615,330 ล้านบาท กำไร 18,440 ล้านบาท
อัตราส่วนกำไรต่อรายได้อยู่ที่ 3%
Nordstrom รายได้ 485,940 ล้านบาท กำไร 11,654 ล้านบาท
อัตราส่วนกำไรต่อรายได้อยู่ที่ 2.4%
เราจะเห็นว่าอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ของบริษัทเหล่านี้มีค่าน้อย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แสดงถึง สถานการณ์ของธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ทำธุรกิจห้างค้าปลีกเหล่านี้ก็ยังคงมีกระแสเงินสดเข้าอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ ปี แตกต่างจาก Sears ที่ขยายธุรกิจอย่างเกินตัวในระยะเวลาที่ผ่านมา
ซึ่งการที่มีกระแสเงินสดเข้า ก็จะทำให้บริษัทเหล่านี้ยังคงพอมีเวลาที่จะหาทางปรับโมเดลธุรกิจ ก่อนที่ผลการดำเนินงานจะถูก E-commerce เข้ามาแย่ง จนกลายเป็นขาดทุนไปในที่สุด
คงจะต้องเอาใจช่วยกันว่าการปรับตัวของบริษัทในธุรกิจห้างค้าปลีกจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ถึงแม้ว่าตอนนี้จะดูเหมือนว่ายังไม่มีทางออกที่ชัดเจนเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้ทันตามสถานการณ์เป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าเราทำได้ก็อาจจะเป็นผู้อยู่รอดในอุตสาหกรรม
แต่ถ้าเราฝืนทำอย่างเดิมอยู่ต่อไป ก็คงจะต้องล้มไปเหมือนห้าง Sears..
----------------------
ติดตามกรณีศึกษาอื่นๆ ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
-https://www.retailwire.com/discussion/macys-launches-in-store-pop-up-concept-for-brands/
-http://fortune.com/2018/11/14/macys-stores-malls-sears/
-https://www.cnbc.com/2018/09/04/goldman-sachs-sell-macys-shares-as-turnaround-plan-is-insufficient.html
-https://www.longtunman.com/9539
-https://www.cnbc.com/2018/10/15/sears-files-for-bankruptcy.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.