ราชาแห่งโลกน้ำมันคนใหม่ คือประเทศอะไร?

ราชาแห่งโลกน้ำมันคนใหม่ คือประเทศอะไร?

22 พ.ย. 2018
ราชาแห่งโลกน้ำมันคนใหม่ คือประเทศอะไร? / โดย ลงทุนแมน
ใครเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันได้มากสุด?
คำตอบในหัวของทุกคน น่าจะมีชื่อ กลุ่ม OPEC, ซาอุดีอาระเบีย หรือ รัสเซีย
จริงๆ แล้วคำตอบนี้ถูกต้องในอดีต
แต่รู้หรือไม่ว่า ตอนนี้มีผู้ท้าชิงตำแหน่งที่ชื่อว่า สหรัฐอเมริกา ได้แซงขึ้นมาผลิตน้ำมันได้มากที่สุดในโลกแล้ว และมีการต่อสู้แย่งชิงส่วนแบ่งกับเจ้าตลาดเดิมอย่างดุเดือด
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

น้ำมันถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีค่าทางเศรษฐกิจมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ให้พลังงาน สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมการผลิตหรือกิจกรรมขนส่ง จึงทำให้มีความต้องการใช้ ในขณะที่ปริมาณมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ราคาน้ำมันนั้นเคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อปี 2008 แม้ในเวลาต่อมาจะปรับตัวลดลง จากวิกฤติ Subprime แต่ไม่นาน ก็ฟื้นตัวกลับมายืนเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้
ทว่า ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันของโลก กลับร่วงลงอย่างหนัก ไปทำจุดต่ำสุดบริเวณ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ทำไมราคาน้ำมันถึงตกต่ำขนาดนี้?
ในอดีต โลกมีการขุดเจาะน้ำมันดิบ จากแหล่งฟอสซิลที่ทับถมกันในแอ่งหรือหลุม ระหว่างชั้นหินชั้นดิน เรียกว่า Crude Oil แต่ปรากฏว่าตอนนี้ สหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบวิธีการขุดเจาะแหล่งน้ำมันชนิดใหม่ ที่ชื่อว่า Shale Oil
Shale Oil คือ แหล่งน้ำมันที่ปะปนอยู่ในชั้นหินใต้เปลือกโลก ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีในการขุดเจาะ แต่ไม่นานมานี้ อเมริกาได้พัฒนาวิธีการขุดเจาะภายในชั้นหินได้ และเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ ซึ่งที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีแหล่ง Shale Oil อยู่สูงมาก จึงเกิดเป็น Supply ใหม่ เข้าสู่ตลาด และกดดันราคา
โดยปกติ หากราคาน้ำมันลดลงอย่างมีนัย กลุ่ม OPEC และรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ (กำลังผลิตรวมกัน 40% ของทั้งโลก) จะหามาตรการพยุงราคา เช่น ลดกำลังการผลิต
แต่ในครั้งนี้ ที่ราคาลดลง เกิดจากการมีผู้เล่นรายใหม่ ดังนั้นหาก OPEC ลดกำลังการผลิต ก็เท่ากับว่ายอมเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับอเมริกา ที่ผลิตน้ำมันได้มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ เจ้าตลาดเดิม ได้เล็งเห็นแล้วว่า จุดอ่อนของ Shale Oil คือ ต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะต้องใช้วิธีพิเศษในการขุดเจาะ โดยมีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 40 - 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับ Crude Oil ที่มีต้นทุนผลิตเพียง 20 - 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
OPEC จึงตัดสินใจปล่อยให้น้ำมันล้นตลาด กดดันราคาต่อไป เพื่อให้ Shale Oil ขาดทุน จนเลิกผลิตไปเอง
ซึ่งเมื่อไปดูข้อมูล จะพบว่า กลยุทธ์นี้ ทำท่าจะได้ผลในตอนแรก
ปี 2014 ราคาน้ำมัน WTI (West Texas Intermediate) 54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สหรัฐอเมริกามีแท่นขุดเจาะน้ำมัน 1,499 แท่น
ปี 2015 ราคาน้ำมัน WTI 37 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สหรัฐอเมริกามีแท่นขุดเจาะน้ำมัน 536 แท่น
จะเห็นว่า เมื่อส่วนต่างกำไรเริ่มน้อย หรือขาดทุน ผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาได้หยุดดำเนินการไปอย่างชัดเจน
เมื่อ Supply จากสหรัฐอเมริกาเริ่มหายไป ทำให้ OPEC เริ่มใช้วิธีลดกำลังการผลิต เพื่อพยุงราคาขึ้น
แต่พอราคาปรับขึ้นไม่ทันไร สหรัฐอเมริกา ก็กลับมาผลิตน้ำมันเพิ่มอีกครั้ง เพราะว่าโครงการเริ่มมีกำไร ประกอบกับเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนผลิตของสหรัฐอเมริกาก็ลดลง
ปี 2016 ราคาน้ำมัน WTI 54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สหรัฐอเมริกามีแท่นขุดเจาะน้ำมัน 525 แท่น
ปี 2017 ราคาน้ำมัน WTI 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สหรัฐอเมริกามีแท่นขุดเจาะน้ำมัน 747 แท่น
ปี 2018 (เดือน ต.ค.) ราคาน้ำมัน WTI 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สหรัฐอเมริกามีแท่นขุดเจาะน้ำมัน 875 แท่น
กลยุทธ์นี้ ทำให้ OPEC หรือแม้แต่รัสเซีย ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองไปด้วย เพราะประเทศเหล่านี้ ใช้รายได้จากการขายน้ำมัน มาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนในประเทศ จึงต้องหันมารัดเข็มขัดงบประมาณใช้จ่ายของภาครัฐแทน
ซึ่งบางประเทศ เริ่มทนสภาพไม่ไหว ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น เวเนซุเอลา
และในตอนนี้ ดูเหมือนว่า ผู้ชนะในศึกนี้ จะเป็นสหรัฐอเมริกา เพราะปริมาณการผลิตน้ำมัน ได้พุ่งขึ้นมาสูงที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ปี 2016 ปริมาณผลิตน้ำมัน
1. รัสเซีย 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
2. ซาอุดีอาระเบีย 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
3. สหรัฐอเมริกา 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปี 2017 ปริมาณผลิตน้ำมัน
1. รัสเซีย 10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
2. ซาอุดีอาระเบีย 10.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
3. สหรัฐอเมริกา 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปี 2018 (ไตรมาส 3) ปริมาณผลิตน้ำมัน
1. สหรัฐอเมริกา 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
2. รัสเซีย 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
3. ซาอุดีอาระเบีย 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แล้วราคาน้ำมันในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
หลายคนคาดการณ์กันว่า โอกาสที่เราจะได้เห็นราคาน้ำมันที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐอีก อาจเป็นไปได้น้อย
เนื่องจากการแข่งขันของประเทศที่ส่งออกน้ำมันกำลังแข่งขันกันด้านราคาขาย หลายประเทศยอมได้กำไรน้อย ดีกว่าสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป
แง่คิดที่ได้จากเรื่องนี้คือ
การพยายามเข้าไปแทรกแซงตลาดนั้น คงไม่สามารถทำได้อย่างยั่งยืน เพราะในระยะยาว ทุกอย่างจะวิ่งกลับเข้าหาจุดสมดุลของมันเอง ไม่อาจหลีกเลี่ยงหลักการของอุปสงค์และอุปทานไปได้
ดังเช่น เรื่องของตลาดน้ำมันโลก ที่เจ้าตลาดเดิม ยอมเจ็บตัวเพื่อกีดกันไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาได้ แต่พอราคาสินค้ากลับสูงขึ้น ก็ต้องเสียส่วนแบ่งอยู่ดี
ดังนั้นอีกปัจจัยที่สำคัญในการแข่งขันคือ
การพัฒนาคุณภาพการผลิต และความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่าย อย่างที่สหรัฐอเมริกาทำ หรือแม้แต่ผู้เล่นเดิม หากลดต้นทุน ยอมรับกำไรที่น้อยลง และไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก็อาจจะกลับมากุมความได้เปรียบก็เป็นได้
ในอดีตที่ผ่านมา มีประเทศที่เป็นผู้นำโลกสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละยุคสมัย
แต่ในยุคนี้ต้องยอมรับว่า สหรัฐอเมริกา จะเป็นผู้นำของโลกไปอีกสักพัก จนกว่าจะมีคนใหม่ที่มีทรัพยากรและเทคโนโลยีที่มากพอมาท้าชิง..
----------------------
แต่ตอนนี้เรามีแพลตฟอร์มใหม่ ที่ blockdit มีบทความน่าสนใจให้ติดตามมากมาย โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------

References
-https://tradingeconomics.com/country-list/crude-oil-production
-https://www.investing.com/economic-calendar/baker-hughes-u.s.-rig-count-1652
-https://www.iea.org/oilmarketreport/omrpublic/
-https://www.ryt9.com/s/ryt9/2101778
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.