เราเปิดดูรายการทีวี ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

เราเปิดดูรายการทีวี ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

14 พ.ย. 2018
เราเปิดดูรายการทีวี ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? / โดย ลงทุนแมน
“เราเปิดดูรายการทีวี ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?”
ประโยคนี้อาจเป็นคำถามที่เราหลายคนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม มันกลับกลายเป็นบททดสอบที่สื่อทีวีในยุคปัจจุบันต้องรีบหาคำตอบ..
การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตทำให้เรามีทางเลือกในการรับชมสิ่งต่างๆ มากขึ้น
มากเสียจนบางครั้ง ทุกอย่างที่เรารับชมเกิดขึ้นบนสมาร์ตโฟนระหว่างกินข้าว, อยู่บนรถไฟฟ้า, บนเตียงนอน หรือ แม้แต่ช่วงเวลาที่เราอยู่ในห้องน้ำ..
แต่ก่อน เราอาจตั้งหน้าตั้งตารอ 6 โมงเย็นเพื่อรับชมรายการโปรดทางทีวี
กลับกัน ในยุคปัจจุบันที่เราสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะเราสามารถดูสิ่งที่อยากดูที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้
เรากดหยุดรายการ บันทึกไว้ พรุ่งนี้มาดูใหม่
เราไม่เข้าใจเนื้อหาสารคดียากๆ กดย้อนกลับไป นั่งดูใหม่เพื่อความเข้าใจ..
เรื่องดังกล่าวทำให้รายการทีวีที่หมุนตามเข็มนาฬิกามีบทบาทน้อยลง
น้อยลงไปมากเสียจนเราไม่แน่ใจว่า ทีวีที่ตั้งอยู่ที่บ้านตอนนี้อาจเป็นเพียงอุปกรณ์ที่เราใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนเพื่อขยายหน้าจอให้ใหญ่ขึ้นสำหรับการรับชม..
จากไลฟ์สไตล์ของเราที่เปลี่ยนไป
แล้วธุรกิจสื่อในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ตัวอย่างแรกในเรื่องนี้อาจจะเป็น Workpoint
ที่เพิ่งประกาศงบไตรมาสล่าสุด ปี 2561..
ไตรมาส 3 ปี 2561 รายได้รวม 1,007 ล้านบาท มาจากรายการทีวี 769 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 76%
เทียบกับ ไตรมาส 3 ปี 2560 รายได้รวม 1,166 ล้านบาท มาจากรายการทีวี 1,036 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 89% ของรายได้ทั้งหมด
จากตัวเลขผลประกอบการงวด 3 เดือนแสดงให้เห็นว่ารายได้รวมหดตัวลง 13% แต่รายได้จากรายการทีวีกลับหดตัวลงกว่า 26%
อย่างไรก็ตาม Workpoint มีรายได้จากละครเวที, การจัดคอนเสิร์ต รวมถึงการรับจ้างจัดงานเพิ่มเข้ามา จึงทำให้ภาพรวมของรายได้ไม่ลดลงมากนัก
แต่เนื่องจากสินทรัพย์ที่มีคือ ใบอนุญาตรายการทีวี หมายความว่าการขยายฐานรายได้ไปยังธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจหลัก จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมาเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้กำไรของ Workpoint งวด 3 เดือนลดลงจาก 381 ล้านบาท เหลือเพียง 144 ล้านบาท คิดเป็นภาพรวมการหดตัวลงกว่า 62%..
เรื่องนี้สะท้อนกลับไปยังไลฟ์สไตล์ของเราที่เริ่มออกห่างจากทีวี และเริ่มคุ้นเคยกับสื่อที่อยู่บน Facebook, YouTube, Netflix และตัวเลือกอื่นอีกมากมายที่กลายมาเป็นชีวิตประจำวันของเรา
และไม่ใช่แค่ Workpoint ที่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้..
ตั้งแต่ต้นปี
มูลค่าหุ้นกลุ่มสื่อในประเทศไทยกำลังเป็นขาลง
MCOT -21%
GRAMMY -26%
RS -47%
BEC -55%
MONO -55%
WORK -64%
ในปี 2560 RS เริ่มปรับโครงสร้างของธุรกิจไปเป็นธุรกิจพาณิชย์จากเดิมที่เป็นธุรกิจสื่อมาตลอดระยะเวลา 35 ปี โดยการนำเสนอธุรกิจความสวยความงาม
การปรับตัวครั้งนี้ทำให้ RS กลับมามีกำไร 332 ล้านบาทในปี 2560 จากการขาดทุน 102 ล้านในปี 2559
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้หลักของ RS ก็ยังคงมาจากธุรกิจสื่อ..
คำถามต่อมาคือ ถ้าเทรนด์การใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ และมันกลายมาเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยไปแล้วในชีวิตประจำวัน
รายการทีวีตอนเย็นที่เคยเป็นกิจวัตรยอดฮิตวัยเด็ก ตอนนี้กลายเป็นการใส่หูฟัง ดูคอนเทนต์ในมือถือ
สิ่งที่น่าสนใจคือ การผลิตคอนเทนต์ในสมัยนี้ ใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ได้ คนไม่จำเป็นต้องดูคอนเทนต์จากแค่รายการทีวี
และเรื่องนี้เป็นการ Personalization ให้แต่ละคนสามารถดูรายการที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องดูรายการที่เหมือนๆ กัน
จนหลายคนบอกว่าเราหมดยุคที่ละครทีวีตอนค่ำจะได้เรตติ้งสูงทุกเรื่องแบบสมัยก่อนแล้ว..
เรื่องทั้งหมดนี้เพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่นาน และที่น่าสนใจคือมันอาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
แล้วต่อจากนี้ไป อะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้าง เป็นสิ่งที่น่าติดตาม
ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เคยประมูลกันเป็นพันล้าน
อาจจะกลายเป็นแค่สัญลักษณ์แห่งความล้มเหลว ของหลายบริษัทในประเทศไทย..
----------------------
ติดตามเรื่องน่ารู้อื่นๆ ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.