ทำไมบัตรเครดิต ถึงดอกเบี้ยแพง?

ทำไมบัตรเครดิต ถึงดอกเบี้ยแพง?

30 ต.ค. 2018
ทำไมบัตรเครดิต ถึงดอกเบี้ยแพง? / โดย ลงทุนแมน
เราเคยสงสัยกันไหมว่า
ทำไมบัตรเครดิตมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง
และเป็นอัตราที่คงที่
ซึ่งแตกต่างจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารประเภทอื่น ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว
ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องของดอกเบี้ย เรามาดูกันก่อนว่าอุตสาหกรรมบัตรเครดิตในประเทศไทยเติบโตขึ้นขนาดไหน
จำนวนบัตรเครดิตทั้งหมดในประเทศไทย
ปี 2015 มีอยู่ 18.9 ล้านใบ
ปี 2016 มีอยู่ 20.1 ล้านใบ เติบโตขึ้น 6.3 %
ปี 2017 มีอยู่ 20.2 ล้านใบ เติบโตขึ้น 0.5 %
ตอนนี้ประเทศไทยมีประชากรอยู่ในช่วงอายุ 20 ปี ถึง 60 ปีประมาณ 40 ล้านคน
ถ้าสมมติให้ประชากรหนึ่งคนพกบัตรได้เพียงคนละหนึ่งใบก็จะแปลว่า ทุก 2 คนจะมีคนที่พกบัตรเครดิตอยู่ 1 คน
แต่จริงๆ แล้วในหนึ่งคนจะพกบัตรเครดิตอยู่หลายใบ
ซึ่งก็น่าจะแปลได้ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีบัตรเครดิต และอุตสาหกรรมนี้ก็น่าจะยังพอมีช่องทางเติบโตอยู่นั่นเอง
เมื่อบัตรเครดิตเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าการปล่อยสินเชื่อทั่วๆ ไปของธนาคารที่ต้องมีหลักประกัน และมีเงื่อนไขที่ซับซ้อน
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตจึงเป็นอัตราที่สูงกว่า เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สินเชื่อบัตรเครดิตจะมีโอกาสกลายเป็นหนี้สูญที่มากกว่า
ปัจจุบันเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 18 ลดลงมาจากในสมัยก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 20
แต่ในส่วนของสินเชื่อประเภทอื่นของธนาคารส่วนใหญ่ จะมีลักษณะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวซึ่งขึ้นอยู่กับ ต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อ และต้นทุนการดำเนินงาน
แล้วหนี้สูญของบัตรเครดิตเกิดขึ้นเยอะกว่าสินเชื่อจริงหรือไม่?
คำตอบที่ได้อาจจะขัดแย้งกับความเชื่อของหลายคน..
เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ จะขอยกตัวอย่างธนาคารกรุงไทย และ บัตรกรุงไทย ซึ่งทั้งคู่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
โดยตัวเลขที่เราจะใช้ชี้วัด คือ NPL (Non-Performing Loan) หรือ หนี้ที่ด้อยคุณภาพ
สัดส่วน NPL ของ บัตรกรุงไทย (KTC)
ปี 2015 รายได้ดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตอยู่ 5,248 ล้านบาท NPL อยู่ที่ 1.3%
ปี 2016 รายได้ดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตอยู่ 5,706 ล้านบาท NPL อยู่ที่ 1.2%
ปี 2017 รายได้ดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตอยู่ 5,894 ล้านบาท NPL อยู่ที่ 1.1%
สัดส่วน NPL ของ ธนาคารกรุงไทย (KTB)
ปี 2015 รายได้จากการปล่อนสินเชื่อ 111,438 ล้านบาท NPL อยู่ที่ 3.20%
ปี 2016 รายได้จากการปล่อยสินเชื่อ 110,298 ล้านบาท NPL อยู่ที่ 3.97%
ปี 2017 รายได้จากการปล่อยสินเชื่อ 106,186 ล้านบาท NPL อยู่ที่ 4.19%
แปลว่าจริงๆ แล้ว การปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีโอกาสที่จะเกิด NPL มากกว่าบัตรเครดิตด้วยซ้ำไป
แล้วต้นทุนทางการเงินของบัตรเครดิตเป็นอย่างไร?
ทุกคนคงทราบว่าธนาคารมีต้นทุนทางการเงินส่วนใหญ่คือดอกเบี้ยเงินรับฝาก
แต่สำหรับบริษัทบัตรเครดิตที่แยกออกมาจากธนาคาร จะมีต้นทุนทางการเงินหลักมาจากหุ้นกู้ ซึ่งจะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินรับฝาก โดย KTC จะมีต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 2.98%
อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดจากรายได้ดอกเบี้ย 18% ก็เท่ากับว่า KTC มีส่วนต่างดอกเบี้ยมากถึง 15% ซึ่งส่วนต่างดอกเบี้ยนี้ก็ยังมากกว่าธนาคารอยู่พอสมควร
ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ ถ้าบริษัทบัตรเครดิตสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี ควบคุม NPL ได้ดี ก็จะส่งผลให้ บริษัทบัตรเครดิตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
รายได้และกำไรของ บริษัท บัตรกรุงไทย จํากัด (KTC)
ปี 2016 รายได้ 17,580 ล้านบาท กำไร 2,495 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 19,525 ล้านบาท กำไร 3,304 ล้านบาท
และปี 2018 รายได้รวมของ 9 เดือนแรก 15,743 ล้านบาท กำไร 3,911 ล้านบาท
ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2018
มูลค่าบริษัทของ บริษัท บัตรกรุงไทย 87,000 ล้านบาท
มูลค่าบริษัทของ ธนาคารกรุงไทย 275,000 ล้านบาท
เท่ากับว่าตลาดให้มูลค่าของธุรกิจบัตรเครดิตกรุงไทย เป็น 32% ของธนาคารกรุงไทยเลยทีเดียว
สำหรับในมุมของผู้ใช้บัตรเครดิต
จริงแล้วๆ ถ้าเราใช้และจ่ายให้ตรงเวลาบัตรเครดิตก็จะกลายเป็นประโยชน์กับเรา เพราะบัตรแต่ละใบเองก็มีสิทธิพิเศษรวมถึงส่วนลดต่างๆ ให้กับเรา
ในมุมกลับกัน ถ้าเราใช้จ่ายเกินตัวอัตราดอกเบี้ยที่สูงของบัตรเครดิตก็จะทวีคูณทบเข้าไปเป็นหนี้พอกพูนขึ้น
ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังใช้จ่ายบัตรเครดิตเกินตัวอยู่ ซึ่งคงจะต้องรีบแก้ไขตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินไป..
แต่เรื่องนี้ทำให้เห็นช่องว่างอะไรบางอย่าง ที่คล้ายกับการยกเลิกค่าธรรมเนียมธนาคาร
ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงเป็น Pain Point ที่ผู้บริโภคเจอมานานเหมือนกับ ค่าธรรมเนียมธนาคาร ที่รอวันมีคนมาทำลาย
ถ้าวันใดวันหนึ่ง มีบริษัทบัตรเครดิตไหน ประกาศคิดดอกเบี้ยที่ถูกลง หรือคิดดอกเบี้ยแบบลอยตัว ก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมนี้ไปเช่นกัน
ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทไหนจะกล้าทำลายกำแพงนี้ก่อน
แต่มันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ เพราะจากข้อมูลข้างต้น กำแพงนี้มันมีมูลค่ามากถึง 32% ของธนาคารเลยทีเดียว..
----------------------
ติดตามเรื่องการเงินอื่นๆ ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.