อธิบายความสัมพันธ์ของ ดอกเบี้ย และ ตลาดหุ้น

อธิบายความสัมพันธ์ของ ดอกเบี้ย และ ตลาดหุ้น

30 ต.ค. 2018
อธิบายความสัมพันธ์ของ ดอกเบี้ย และ ตลาดหุ้น / โดย ลงทุนแมน
“อัตราดอกเบี้ยขาลง ตลาดหุ้นขาขึ้น
อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดหุ้นขาลง”
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้กันบ่อยๆ
แล้วที่ผ่านมามันเป็นแบบนี้หรือไม่ วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า อัตราดอกเบี้ยกับตลาดหุ้น นั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
บริษัทส่วนใหญ่เมื่อลงทุน จะมีแหล่งเงินทุนมาจากสองประเภทก็คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นเอง และ ส่วนของการกู้ยืมเงินมาลงทุน
ในเรื่องของการกู้เงินมาลงทุน บริษัทจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้
ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นจึงเป็นต้นทุนทางการเงินที่สำคัญของบริษัท
ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การกู้ยืมเงินมาลงทุนมักไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากบริษัทโดยส่วนใหญ่มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ผู้ให้กู้ได้
แต่เมื่อใดก็ตาม ที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้น นั่นหมายถึง ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้กำไรของบริษัทลดลง ซึ่งก็ส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทในที่สุด
สรุปง่ายๆ ก็คือ ตลาดหุ้นไม่ค่อยชอบสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางขาขึ้น เพราะต้นทุนการเงินของบริษัทต่างๆ จะสูงขึ้น
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลกก็คือ การกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือที่เรารู้จักกันดีว่า Fed โดยอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดย Fed นั้นเราเรียกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
หลายคนคงจำกันได้ว่าปี 2008 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ทำให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา Fed พยายามลดดอกเบี้ยให้ต่ำสุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยจุดต่ำสุดของดอกเบี้ยที่ลดลงในตอนนั้น ลดลงไปจนเหลือ 0% ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและของโลก
แล้วอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง สัมพันธ์อย่างไรกับตลาดหุ้นบ้าง?
การลดลงของดอกเบี้ย มีผลทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวขึ้น และตราสารทุน หรือเราเรียกกันว่าหุ้นนั้น ก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ถ้าเราลองเทียบอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกากับดัชนี SET Index ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา
16 ธันวาคม 2008
อัตราดอกเบี้ย Fed 0.00% - 0.25%
SET Index อยู่ที่ 447.01 จุด
16 ธันวาคม 2015
อัตราดอกเบี้ย Fed 0.25% - 0.50%
SET Index อยู่ที่ 1,299.12 จุด
26 กันยายน 2018
อัตราดอกเบี้ย Fed 2.00% - 2.25%
SET Index อยู่ที่ 1,749.93 จุด
จะพบว่าช่วงที่ Fed ใช้นโยบายการเงินโดยการกดดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ที่ 0.00% - 0.25% ยาวนานถึง 7 ปีเต็ม (ปี 2008 - 2015) นั้น SET Index เพิ่มขึ้น 191%
แต่หลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2015 จนล่าสุดอยู่ที่ 2.00% - 2.25% ถ้านับจากช่วงนั้นแสดงว่า SET เพิ่มขึ้นมา 35%
จึงน่าจะพอบอกได้ว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำมีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้น
ลงทุนแมนเคยเล่าเรื่อง P/E (Price to Earnings Ratio) ไปแล้ว ซึ่งเป็นค่าที่ใช้วัดความถูกแพงของหุ้นในเบื้องต้น
ถ้า P/E สูง ก็หมายความว่า หุ้นตัวนั้นอาจจะมีราคาแพงเมื่อเทียบกับกำไรล่าสุดของบริษัท
และถ้าค่า P/E ต่ำ หมายความว่า หุ้นตัวนั้นอาจจะมีราคาถูกเมื่อเทียบกับกำไรล่าสุดของบริษัท
ถ้าเราลองกลับค่าดังกล่าวเป็น E/P (Earnings to Price Ratio) เราจะได้ค่า Earnings Yield เช่น สมมุติตลาดหุ้นไทย P/E อยู่ที่ 17 เท่า ถ้าเรากลับเศษ-ส่วน จะได้ Earnings Yield เท่ากับ 5.9% หมายความว่า การลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้เราได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน 5.9%
ค่า Earnings Yield ที่ได้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านอื่นๆ ซึ่งปกติเรามักจะไปเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี เพื่อดูว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงนั้นๆ น่าสนใจไหม
ถ้าส่วนต่างยิ่งมาก การลงทุนในตลาดหุ้นก็น่าสนใจ แต่ถ้าส่วนต่างยิ่งน้อย การลงทุนในพันธบัตรอาจจะน่าสนใจกว่า เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า
ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะขึ้นกับความคาดหวังของดอกเบี้ยในอนาคต
แล้ว Earnings Yield ของตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับพันธบัตรสหรัฐอเมริกา?
Earnings Yield ของตลาดหุ้นไทย เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐอเมริกา 10 ปี
ปี 2016 Earnings Yield เท่ากับ 5.4% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ที่ 2.5%
ปี 2017 Earnings Yield เท่ากับ 5.2% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ที่ 2.4%
เดือนตุลาคม 2018 Earnings Yield เท่ากับ 6.2% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ที่ 3.1%
สังเกตว่าในปีนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา และถ้าตัวเลขนี้ขึ้นมามาก ก็จะทำให้ความน่าสนใจจากการลงทุนในตลาดหุ้นลดลงไป นอกเสียจากว่า ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงเพื่อทำให้ Earnings Yield น่าดึงดูด ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ผ่านมา
แต่ทั้งนี้ในอีกมุมมองหนึ่ง อาจมีบางคนแย้งว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นก็มาจากธนาคารกลางเห็นว่าเศรษฐกิจนั้นดีขึ้นแล้ว เมื่อเศรษฐกิจดี ก็จะทำให้กำไรของบริษัทต่างๆ ดี และไม่น่าจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลง
ซึ่งก็ต้องคอยติดตามว่าบริษัทในตลาดหุ้นจะทำกำไรมากขึ้นเพื่อรักษา Earnings Yield ให้น่าลงทุนต่อไปได้หรือไม่ ถ้าทำได้ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้ลดลง แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็คงต้องเตรียมตัวพบกับตลาดหุ้นขาลง ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น..
----------------------
ติดตามเรื่องน่ารู้อื่นๆ ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.