หุ้น Ferrari เติบโตกว่า Tesla

หุ้น Ferrari เติบโตกว่า Tesla

25 ต.ค. 2018
หุ้น Ferrari เติบโตกว่า Tesla / โดย ลงทุนแมน
“ถ้าเราสามารถฝันได้ เราก็สามารถทำมันได้”
ประโยคนี้ถูกพูดโดยคุณ Ferrari เจ้าของความฝันการเป็นนักแข่งรถตั้งแต่ 10 ขวบ
ปัจจุบันหากพูดถึงความก้าวหน้าในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์..
หลายคนคงนึกถึง Tesla ของ Elon Musk ที่เป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) เต็มรูปแบบ
แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีบริษัทรถยนต์อีกหนึ่งบริษัทที่เติบโตอย่างน่าสนใจทั้งๆ ที่ไม่ได้มีแผนวิจัยและพัฒนารถไฟฟ้าเลย..
บริษัทนั้นคือ Ferrari ที่แยกตัวออกมาจากกลุ่ม Fiat และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2015
โดยตั้งแต่ต้นปี 2017 จนถึงปัจจุบัน หุ้นบริษัท Ferrari เติบโตกว่า 127.52%
ในขณะที่ Tesla เติบโตเพียง 22.58% ทำให้ Ferrari เป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตมากที่สุดในโลกในช่วงระยะเวลาเดียวกัน..
แล้ววันแรกของ Ferrari เป็นอย่างไร?
ลงทุนแมน จะเล่าให้ฟัง
120 ปีก่อน..
Enzo Anselmo Ferrari ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวเจ้าของโรงงานเหล็กที่เมืองโมเดนา ประเทศอิตาลี
คุณ Ferrari ในวัยเพียง 10 ขวบเริ่มสนใจในรถแข่งตั้งแต่เด็กจากการไปชมการแข่งรถรายการ 1908 Circuito di Bologna
ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้คุณ Ferrari เริ่มศึกษากลไกเครื่องยนต์ และการขับรถ
อย่างไรก็ตาม คุณ Ferrari ต้องพบกับความสูญเสียครั้งสำคัญเนื่องจากคุณพ่อ และพี่ชายติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา..
มากไปกว่านั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ผลจากสงครามทำให้เศรษฐกิจทั่วยุโรปหยุดชะงัก รวมไปถึงโรงงานเหล็กของครอบครัว Ferrari
ทำให้ตระกูลของเขาต้องขายกิจการโรงงานเหล็กออกไป..
ต้นทุนชีวิตของวัยรุ่นหนึ่งคนกลายเป็นศูนย์
และต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยตัวเอง..
อย่างไรก็ตาม คุณ Ferrari เก็บความเสียใจเอาไว้ และเริ่มต้นสมัครงาน
เขาเริ่มต้นสะสมประสบการณ์การทำงานเป็นนักทดสอบรถยนต์ นักแข่งรถ รวมถึงช่างกลเครื่องยนต์
คุณ Ferrari เป็นนักทดสอบรถ นักแข่งรถ และคนขายรถให้กับบริษัท Alfa Romeo ซึ่งภายหลังมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น ทำให้ทั้งสองต้องแยกทางกัน
แต่การแยกทางครั้งนั้นทำให้ประวัติศาสตร์วงการรถแข่งเปลี่ยนไป..
คุณ Ferrari ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Scuderia Enzo Ferrari Auto Corse ทำกิจการผลิตเครื่องยนต์รถแข่งและชิ้นส่วนเครื่องบิน
แต่ยังไม่ทันไร โรงงานของเขาก็ถูกระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อสงครามยุติลง คุณ Ferrari ก็กลับมาอีกครั้ง และได้สร้างโรงงานขึ้นใหม่ในเมือง มาราเนโล
จนกระทั่งในวัย 49 ปี เขาก็สร้างรถแข่งคันแรกสำเร็จในรุ่น 125 S
ที่น่าสนใจคือ โลโก้ม้าลำพองของ Ferrari มีรายละเอียด 3 อย่างซ่อนอยู่
ม้าของ Ferrari ได้มาจากสัญลักษณ์บนเครื่องบินของตำนานทหารอากาศของประเทศอิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สีเหลืองพื้นหลังคือสีประจำเมืองเกิด เมืองโมเดนา
และแถบสี เขียว ขาว แดง คือสีธงชาติอิตาลีนั่นเอง
โดยต่อจากนั้นมา เรื่องราวทั้งหมดของ Ferrari กลายเป็นตำนาน..
บริษัทของคุณ Ferrari ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านรถแข่ง ผลิตรถแข่งที่คว้ารางวัลจากสนามแข่งทั่วโลก และทำความฝันของตนเองสำเร็จในวัยเกือบ 60 ปี..
หลังจากนั้น ในปี 1969 Ferrari ขายหุ้นในบริษัท 50% ให้กับบริษัท Fiat และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในปี 1988 โดยอีก 10% ที่เหลือยังเป็นของตระกูล Ferrari
สาเหตุที่ตระกูล Ferrari ต้องขายหุ้นเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีทั่วยุโรปในช่วงนั้น จึงต้องหาผู้ร่วมทุน
แล้วปัจจุบัน Ferrari เป็นอย่างไร?
3 ปีที่ผ่านมา Fiat ตัดสินใจนำ Ferrari ออกจากกลุ่ม Fiat Chrysler Automobiles N.V. และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเหตุผลที่ว่า Ferrari มีผลประกอบการที่โดดเด่น และไม่ได้เป็นเพียงแค่รถยนต์ แต่เป็นแบรนด์ที่มีเรื่องราว
และมันก็เป็นแบบนั้นจริง..
ปี 2015 รายได้ 107,909 ล้านบาท กำไร 10,965 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 117,400 ล้านบาท กำไร 15,124 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 129,197 ล้านบาท กำไร 20,304 ล้านบาท
จากผลประกอบการข้างต้นแสดงให้เห็นว่า Ferrari เติบโตขึ้นทุกปี
แล้วสัดส่วนรายได้ของบริษัท Ferrari เป็นอย่างไร?
รายได้ทุกๆ 100 บาทของ Ferrari แบ่งออกเป็น
ต้นทุนสินค้าขาย (COGS) 48.3 บาท
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าจ้างพนักงาน (SG&A) 9.6 บาท
ค่าใช้จ่ายการวิจัย และพัฒนา (R&D) 19.2 บาท
ภาษีจ่าย 6.1 บาท และอื่นๆ
คิดเป็นกำไรสุทธิ 15.8 บาท
Ferrari มีรายได้เฉพาะการขายรถและชิ้นส่วนอยู่ที่ร้อยละ 71.9 ของรายได้ คิดเป็น 92,892.6 ล้านบาท และส่งมอบรถ 8,398 คัน ในปี 2017
แปลว่าราคาขายของ Ferrari จากโรงงานให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วโลกเฉลี่ยแล้วคันละ 11 ล้านบาท..
มากไปกว่านั้น ราคาของหุ้น Ferrari นับตั้งแต่ต้นปี 2017 เติบโตกว่า 127.52% โดยเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตมากที่สุดในโลก
สิ่งเหล่านี้ทำให้ ปัจจุบัน Ferrari มีมูลค่าตลาดกว่า 797,893 ล้านบาท ซึ่งถ้าให้บริษัทนี้มาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะใหญ่เป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว
น่าสนใจว่า Ferrari กำลังเจอบทพิสูจน์ว่าจะสามารถเติบโตไปได้ถึงระดับไหน และอนาคต Ferrari จะมีการวางแผนทางธุรกิจอย่างไร ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยคู่แข่งที่มีอาวุธเพิ่มมากขึ้น
แล้วนอกเหนือจากเรื่องผลประกอบการ
Ferrari ให้ข้อคิดอะไรเรา?
คุณ Ferrari ฝันมาตั้งแต่ 10 ขวบและทำสำเร็จในวัยเกือบ 60 ปี
เขาไม่ได้เริ่มต้นสร้างโรงงานตั้งแต่อายุน้อย แต่เพิ่งมาสำเร็จตอนอายุมากแล้ว
ระหว่างทางมีอุปสรรคมากมาย แต่เราสามารถผ่านมันไปได้ด้วยคำว่า ตั้งใจ และ พยายาม
สมัยเด็กเราเคยคิดอยากทำอะไรและไม่ได้ทำบ้าง?
ไม่ว่าตอนนี้เราจะอายุเท่าไร เรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหา
สิ่งสำคัญคือ การหาจังหวะเวลาในการเริ่มทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน
หากเราตั้งใจทำมันจนสำเร็จ ไม่แน่ว่าเราอาจประสบความสำเร็จแบบคุณ Ferrari ที่ขายรถคันละ 11 ล้านบาท ก็เป็นได้..
----------------------
หากชอบเรื่องหุ้นและการลงทุนอ่าน "blockdit" โหลดฟรีที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
-http://corporate.ferrari.com/sites/ferrari15ipo/files/Documentazione/annual_report_ferrari_nv_12.31.2017_.pdf
-https://www.investopedia.com/ask/answers/060815/which-benchmarks-indexes-track-automotive-sector.asp
-https://www.msci.com/documents/10199/f87aad4f-6f38-4878-a149-878bde47068c
-https://finance.yahoo.com/quote/RACE/
-https://www.imdb.com/name/nm0274060/bio
-https://www.biography.com/people/enzo-ferrari-010816
-https://www.thefamouspeople.com/profiles/enzo-ferrari-3780.php
-https://markets.businessinsider.com/news/stocks/maserati-ipo-fiat-chrysler-alfa-romeo-spinoff-ipo-2017-8-1002283050
-https://www.fcagroup.com/en-US/investors/past_corporate_actions/ferrari_separation/Ferrari_Separation_QA.pdf
-https://www.roadandtrack.com/car-culture/videos/a8966/why-is-fiat-chrysler-selling-ferrari-heres-one-good-guess/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.