สรุปเรื่อง กองทุนประกันสังคม

สรุปเรื่อง กองทุนประกันสังคม

3 ต.ค. 2018
สรุปเรื่อง กองทุนประกันสังคม / โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่าปัจจุบัน มีคนไทยเกือบ 15 ล้านคนที่จ่ายเงินสมทบให้กองทุนประกันสังคม
แต่เงินที่เราจ่ายไปแต่ละครั้งนั้นถูกนำไปใช้ทำอะไร
สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะรู้
ก่อนอื่นเรามารู้จักกับสำนักงานประกันสังคมกันก่อน
สำนักงานประกันสังคมเกิดขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีประสบกับอันตราย และเจ็บป่วยจากโรคที่มาจากการทำงาน ในรูปแบบของกองทุนเงินทดแทน
ในช่วงแรกนั้นจะคุ้มครองเฉพาะบริษัทที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป และอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ขยายจนครบทุกจังหวัด และจัดตั้งเป็นพระราชบัญญัติประกันสังคมในปี พ.ศ.2533
ปัจจุบัน การประกันสังคมของประเทศไทยจะทำหน้าที่คุ้มครองสมาชิกอยู่ 7 อย่าง คือ การเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และชราภาพ
โดยผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมนั้น ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกที่เรียกว่าผู้ประกันตน ซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเภท คือ
1.พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป
2.ผู้ที่เคยเป็นพนักงานแต่ลาออกแล้ว
3.ผู้ทำอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ
ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะส่งเงินสมทบตามจำนวนที่ต่างกัน และได้รับสิทธิประโยชน์ที่ต่างกัน
กองทุนประกันสังคมนั้น จะมีรายรับจาก 3 ทางคือ
1.เงินสมทบรับ (จากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล)
2.ผลตอบแทนจากการลงทุน
3.ค่าธรรมเนียมต่างๆ
โดยกว่า 73% ของรายรับเกิดจากเงินสมทบรับ
ขณะที่รายจ่ายมาจาก 3 ส่วนหลักๆ คือ
1.รายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน
2.ค่าบริหารสำนักงาน
3.รายจ่ายอื่น ๆ
โดยรายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 77% ของรายจ่ายทั้งหมด
รายรับรวม และ รายจ่ายรวม ของกองทุนประกันสังคม
ปี 2555 รายรับรวม 151,835 ล้านบาท รายจ่ายรวม 59,625 ล้านบาท
ปี 2557 รายรับรวม 222,738 ล้านบาท รายจ่ายรวม 66,844 ล้านบาท
ปี 2560 รายรับรวม 241,000 ล้านบาท รายจ่ายรวม 80,124 ล้านบาท
โดยเงินที่เรานำส่งสำนักงานประกันสังคมนั้น จะถูกนำไปลงทุนตามที่คณะกรรมการประกันสังคมและกระทรวงการคลังกำหนด
ปัจจุบัน กองทุนประกันสังคมจะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% ของเงินกองทุน เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น
ขณะที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 40% เช่น หุ้น หน่วยลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น
แล้วผลตอบแทนสะสมเป็นอย่างไร? เมื่อเทียบกับเงินสมทบของกองทุนประกันสังคม
ปี 2558 ผลตอบแทนสะสม 413,608 ล้านบาท / จำนวนเงินสมทบสะสม 972,653 ล้านบาท
ปี 2559 ผลตอบแทนสะสม 466,344 ล้านบาท / จำนวนเงินสมทบสะสม 1,103,956 ล้านบาท
ปี 2560 ผลตอบแทนสะสม 524,797 ล้านบาท / จำนวนเงินสมทบสะสม 1,237,298 ล้านบาท
สิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับกองทุนประกันสังคมคือ จำนวนเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้จำนวนผู้ประกันตนในอนาคตมีแนวโน้มที่จะลดลง ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นก็จะทำให้รายรับของกองทุนที่มาจากเงินสมทบลดลงไปด้วย
ในขณะที่รายจ่ายของกองทุนก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอายุของผู้ประกันตนที่จะยืนยาวขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาการเจ็บป่วย และรายจ่ายจากกรณีชราภาพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันเพิ่มขึ้น
ทำให้หลายฝ่ายกังวลกับสถานะของกองทุนประกันสังคมในอนาคต
ซึ่งที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ควรมีการขยายอายุเกษียณคนทำงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพื่อชะลอการจ่ายเงินของกองทุน ปรับรูปแบบการลงทุนของกองทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น หรือแม้แต่ให้มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่ม
ทุน
ซึ่งไม่ว่ากรณีไหน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมานั่งพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งก็ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราและลูกหลานของเราในอนาคตนั่นเอง..
----------------------
นอกจากเรื่องกองทุนประกันสังคม ยังมีเรื่องน่ารู้อื่นๆ อีกมากมาย ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.