สรุปแผนปฏิรูปภาษี ปี 2562

สรุปแผนปฏิรูปภาษี ปี 2562

26 ก.ย. 2018
สรุปแผนปฏิรูปภาษี ปี 2562 / โดย ลงทุนแมน
ใครมีเงินได้สูงเกิน 2 ล้านบาทต่อปี อาจจะต้องร้องว้าว
เพราะในปีหน้าจะมีการปฏิรูปภาษี ลดภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดจาก 35% เหลือ 25%
นิติบุคคลก็เตรียมดีใจ เพราะรัฐจะลดภาระภาษีจาก 28% เหลือ 25% เช่นกัน
ส่วนเรื่อง VAT ก็จะมีการปรับปรุงที่กระทบกับผู้ประกอบการทุกคน
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟังแบบง่ายๆ
ก่อนอื่นเริ่มจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ถ้าถามว่าเราจะต้องเสียภาษีเงินได้เท่าไร? ให้ดูข้อมูลของเดิม
ถ้าทั้งปีเรามีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท เราจะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ก็ต้องยื่นให้สรรพากรรับทราบ
ถ้าเรามีเงินได้สุทธิมากกว่า ในส่วนที่เกิน 150,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 5%
และถ้าเรามีเงินได้สุทธิสูงขึ้นไปอีก ในส่วนที่เกิน 300,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 10%
และอัตราภาษีก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แปรผันตามเงินได้สุทธิของเรา
ยิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่มากขึ้น
ส่วนที่เกิน 500,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 15%
ส่วนที่เกิน 750,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 20%
ส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 25%
ส่วนที่เกิน 2,000,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 30%
และสุดท้าย
ส่วนที่เกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป เราจะเสียภาษีในอัตรา 35%
เร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ได้ประกาศว่าจะปฏิรูประบบภาษีใหม่ ให้อัตราภาษีที่เป็นขั้นบันไดนี้สูงสุดแค่ 25%
เรื่องนี้กระทบกับใครบ้าง?
ถ้าดูจากข้อมูลด้านบน ก็แปลได้ว่า เรื่องนี้จะกระทบกับคนที่มีเงินได้เกิน 2 ล้านบาทต่อปีนั่นเอง ที่จะเสียภาษีน้อยลง ใครที่มีอาชีพที่มีเงินได้สูง เช่น คุณหมอ ผู้บริหาร คงร้องว้าวเพราะต่อไปจะเสียภาษีน้อยลงไปมากเลยทีเดียว
ทำไมถึงต้องลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
เรื่องนี้สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำกันระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับ ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ยกตัวอย่าง นาย A ทำเงินได้ 10 ล้านบาทต่อปี ถามว่านาย A จะใช้ตัวเองเป็นคนรับเงินได้นี้ไหม?
ถ้าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังสูงสุดที่ 35% คำตอบก็คง ไม่รับ และตั้งนิติบุคคลขึ้นมารับเงินแทน
เพราะตอนนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเสียในอัตราแค่ 20%
การปรับลดภาษีลงมาให้เท่ากันก็จะทำให้มีความเท่าเทียมกันระหว่าง บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคลมากขึ้น
เรื่องต่อมาก็คือ การปฏิรูปภาษีเงินได้นิติบุคคล
แต่เดิมนิติบุคคลต้องเสียภาษีจากกำไรเป็นอัตรา 20% เช่นบริษัทได้กำไร 100 บาท บริษัทต้องเสียภาษี 20 บาท เหลือ กำไรสุทธิหลังภาษี 80 บาท
และเมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผล 80 บาทมาให้ผู้ถือหุ้น จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 10% (8 บาท)
ดังนั้นผู้ถือหุ้นก็จะได้เงินสุทธิ 72 บาท ซึ่งหมายความว่า ผู้ถือหุ้นมีภาระภาษีที่จะต้องเสียทั้งหมด 28%
ทีนี้ทางคณะอนุกรรมการดังกล่าวก็มีแผนที่จะลดภาระภาษีของนิติบุคคลจาก 28% ให้ลดลงเหลือ 25%
ทางที่จะเป็นไปได้ก็อาจจะมี 2 ทาง ก็คือ
1. ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของเงินปันผล จาก 10% ลงเหลือ 6.25%
ตัวอย่างเช่น นำเงินปันผล 80 บาท ถูกหัก ณ ที่จ่ายภาษี 6.25% จะเป็น 5 บาท
และเมื่อนำ 5 บาท ไปรวมภาษีที่เสียไปแล้ว 20 บาท จะทำให้มีภาระภาษี 25 บาท
2. ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 20% ลงเหลือ 16.67%
ตัวอย่างของทางเลือกนี้คือ เมื่อบริษัทมีกำไร 100 บาท บริษัทจะเสียภาษี 16.67 บาท และเหลือกำไรสุทธิหลังภาษี 83.33 บาท
และ เงินปันผล 83.33 บาท จะถูกหักภาษี 10% ณ จ่าย คือ 8.33 บาท
รวมแล้วบริษัทก็จะมีภาระภาษี 25 บาทเช่นกัน
น่าสนใจว่าถ้ารัฐเลือกทางเลือกนี้ จะทำให้ภาษีนิติบุคคลลดลงอีก และรัฐอาจขาดรายได้ไปมาก
และในทางกลับกันนิติบุคคลจะได้ประโยชน์มาก เพราะจะมีกำไรเพิ่มขึ้นทันทีจาก 80 บาท เป็น 83.33 บาท หรือ 4%
ส่วนเรื่องต่อมาก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT
จากเดิมผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในอัตรา 7% ของยอดขาย สำหรับ ผู้ประกอบการที่มียอดขาย 1.8 ล้านบาทขึ้นไป
มาคราวนี้จะเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรก ในอัตรา 2% ของยอดขายตั้งแต่บาทแรก และสำหรับผู้ประกอบการที่มียอดขายเกิน 10 ล้านบาท ถึงจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เสีย VAT ในอัตรา 7% แทน
ทั้งนี้ยังมีเรื่องอื่นอีกเช่น
การยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 0.1% จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
การยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีอื่น
บทสรุป เรื่องนี้กระทบกับใครบ้าง?
เรื่องแรกในการลดภาษีบุคคลธรรมดาให้สูงสุด 25% ก็คงกระทบกับผู้ที่มีเงินได้เกิน 2 ล้านบาทต่อปีที่จะเสียภาษีน้อยลง แต่ก็จะทำให้บุคคลเหล่านั้นเต็มใจที่จะเสียภาษีมากขึ้น ไม่นำรายได้ไปเข้านิติบุคคล
เราอาจจะได้เห็นบุคคลมีเงินได้เป็นสิบล้าน แต่ไม่จดเป็นนิติบุคคลกันมากขึ้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือภาษีของบุคคลธรรมดาจะลดลง ก็อาจทำให้มีเม็ดเงินมาซื้อผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีได้น้อยลง ทั้ง LTF RMF และ ประกันชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีภาษีจากการที่มีบุคคลธรรมดาเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ก็อาจจะทำให้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีมากขึ้นจากคนกลุ่มนี้
ส่วนเรื่องที่สอง นิติบุคคลก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นอีก เพราะจะทำให้ผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลนั้นมีภาระภาษีน้อยลงเป็น 25% จากเดิม 28%
สำหรับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มปรับให้การจด VAT ให้เป็นสำหรับ 10 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมที่ 1.8 ล้านบาท และ เสียภาษี 2% ของรายได้ตั้งแต่บาทแรก ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ..
ตอนนี้คนไทยมี 68 ล้านคน
มีคนที่อยู่ในระบบภาษี 10 กว่าล้านคน
แต่ 7 ล้านกว่าคนที่อยู่ในระบบก็ไม่ได้เสียภาษี
มีผู้เสียภาษีในระบบจริงๆ เพียง 3 ล้านคน หรือ 4% ของประชากรทั้งหมด
แปลว่าอะไร?
แปลว่าผู้เสียภาษีที่อยู่ในระบบกำลังแบกคนทั้งประเทศไว้อยู่
การปฏิรูปภาษีนี้ก็จะทำให้คนที่อยู่นอกระบบมาอยู่ในระบบมากขึ้น
และก็ทำให้รัฐบาลมีรายได้ที่สะท้อนกับความเป็นจริงมาพัฒนาประเทศของเราได้มากขึ้น
จากข่าวที่รายงาน รัฐบาลจะปฏิรูประบบภาษีนี้ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงปี 2562
การปฏิรูปครั้งนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เรื่องนี้เราคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเราคนไทยทุกคน..
----------------------
ติดตามเรื่องภาษีกันแล้ว อ่านเรื่องน่ารู้อื่นๆ ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
-https://www.posttoday.com/finance/news/565137
-http://www.thansettakij.com/index.php/content/322581
-https://www.khaosod.co.th/economics/news_1596590
[10294].
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.