สรุปเรื่อง BALANCE SHEET แบบเข้าใจง่ายๆ

สรุปเรื่อง BALANCE SHEET แบบเข้าใจง่ายๆ

22 ก.ย. 2018
สรุปเรื่อง BALANCE SHEET แบบเข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
การอ่านงบการเงิน ส่วนใหญ่เราจะเริ่มต้นที่งบกำไร-ขาดทุนเป็นลำดับแรก ซึ่งอธิบายไปในตอนที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกงบการเงินที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ Balance Sheet หรือที่เราเรียกกันว่า “งบดุล” ซึ่งทุกคนคงเคยได้ยินคำนี้
แต่เราเข้าใจจริงๆ ไหมว่า งบดุลคืออะไร?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟังแบบง่ายๆ
 
งบดุล เป็นงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีตามกำหนดเวลา เช่น ทุกไตรมาส หรือ 1 ปี
งบการเงินประเภทนี้จะใช้เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ
หากเปรียบเทียบกับธุรกิจในชีวิตประจำวันของเรา สมมติว่า..
คุณต้น เจ้าของบริษัท อิชิต้น ต้องการซื้อเครื่องจักรใหม่มูลค่า 1 ล้านบาท
คุณต้นมีเงินทุนอยู่ 6 แสนบาท..
แปลว่า คุณต้นต้องมีเงินเพิ่มเติมมาซื้อเครื่องจักรอีก 4 แสนบาทโดยเงินจำนวนนี้อาจมาจากการกู้ยืมธนาคาร
จากตัวอย่างข้างต้น..
เงินทุน 6 แสนบาท ถูกเรียกว่า ส่วนของเจ้าของ
การกู้ยืมจากธนาคาร 4 แสนบาท ถูกเรียกว่า หนี้สิน
และ เครื่องจักร 1 ล้านบาท ถูกเรียกว่า สินทรัพย์
3 ส่วนประกอบนี้เป็นหลักการของ งบดุล โดยเราสามารถนำมาคิดเป็นสมการอย่างง่ายคือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ นั่นเอง..
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วเข้าใจ ก็น่าจะเข้าใจเบื้องต้นแล้วว่างบดุลคืออะไร แต่ถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็อ่านต่อได้เลย
จริงๆ แล้วสินทรัพย์ไม่ได้มีแค่เพียง เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ แต่เต็มไปด้วยส่วนประกอบต่างๆ โดยแต่ละธุรกิจก็มีลักษณะของสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เงินสดก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์ของเรา ลิขสิทธิ์ก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์ของเรา หรือแม้แต่คนที่ติดหนี้เรา ก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์ของเรา
ถ้าจะให้แบ่งประเภทของสินทรัพย์ (Assets) จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1. สินทรัพย์หมุนเวียน
2. สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
สินทรัพย์หมุนเวียน ได้แก่ เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด สินค้าคงคลัง หรือลูกหนี้การค้า
เมื่อบริษัทผลิตสินค้าออกมาก็จะบันทึกเป็นสินค้าคงคลัง
ต่อมาเมื่อสินค้าขายได้ สินค้าคงคลังก็จะลดลง
และ ถ้าลูกค้ายังไม่ได้จ่ายเงิน ก็จะบันทึกเป็นลูกหนี้การค้าเป็นสินทรัพย์ของเรา
เมื่อลูกค้าจ่ายเงินเรา ลูกหนี้การค้าเราก็จะลดลง
สินทรัพย์ประเภทนี้อาจแสดงสภาพคล่องของบริษัท
เช่น ถ้าบริษัทขายสินค้าได้ดี ก็จะทำให้มีเงินสดเก็บไว้ในบริษัทมาก
แต่ถ้าบริษัทผลิตสินค้ามาขายไม่ออก ก็อาจทำให้มีรายการสินค้าคงคลังมาก
หรือถ้าบริษัทขายได้ แต่เก็บเงินไม่ได้ ก็จะทำให้มีลูกหนี้การค้ามาก
ต่อมาคือ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
สินทรัพย์ประเภทนี้แบ่งออกเป็น สินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น ที่ดิน อาคาร โรงงาน และเครื่องจักร รวมไปถึงเงินลงทุนระยะยาว ในขณะที่ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และแฟรนไชส์
บริษัทที่ต้องใช้ที่ดิน โรงงาน เพื่อผลิตสินค้า เช่น โรงกลั่น สนามบิน ก็จะมีสินทรัพย์ที่มีตัวตนมาก
ส่วนบริษัทที่ไม่เน้นการผลิต เช่น บริษัทโฆษณา บริษัทจัดจำหน่าย ก็จะมีสินทรัพย์ที่มีตัวตนน้อย
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น คือ สินทรัพย์มาจาก หนี้สิน และ ส่วนของเจ้าของ
หนี้สิน (Liabilities) จะถูกแบ่งออกเป็น หนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียนเช่นกัน
สำหรับหนี้สินหมุนเวียน คือ รายการการกู้ยืมต่างๆ ที่มีกำหนดชำระภายใน 1 ปี
ส่วนหนี้สินระยะยาวคือ ส่วนของหนี้สินที่มีกำหนดชำระเกิน 1 ปี ซึ่งหลักๆ จะประกอบด้วย เงินกู้ยืมจากธนาคาร หรือเงินกู้ยืมจากบุคคลทั่วไปในรูปแบบของหุ้นกู้ระยะยาว
ส่วนสุดท้ายคือ ส่วนของเจ้าของ หรือ ส่วนทุน (Equity)
ส่วนของเจ้าของ หมายถึงมูลค่าของสินทรัพย์หลังหักหนี้สิน
ในภาษาการเงินเราจะเรียก ส่วนของเจ้าของว่าเป็น Book Value ก็ได้มีความหมายเหมือนกัน
และนั่นก็เป็นที่มาของอัตราส่วนที่ว่า Price / Book Value หรือ P/B
ถ้า P/B น้อยกว่า 1 แปลว่าเราจ่ายเงินเพื่อซื้อบริษัทนั้นน้อยกว่ามูลค่าทางบัญชีของส่วนของเจ้าของเสียอีก
แต่ต้องระวังไว้ว่า ถ้าเราพบกับบริษัทที่ซื้อขายกันที่ P/B น้อยกว่า 1 อาจจะไม่ใช่บริษัทนั้นมีราคาถูก แต่เป็นเพราะบริษัทนั้นอาจมีปัญหาอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ก็เป็นได้เช่น สินทรัพย์ของบริษัทไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ บริษัทนั้นมีหนี้สินมาก
ถึงตรงนี้ เรายังสามารถคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ อื่นๆ ได้อีกเช่น
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ (Debt to Equity Ratio) เพื่อใช้วิเคราะห์นโยบายทางการเงินของบริษัทว่าบริษัทมีหนี้สินมากไปหรือไม่ ถ้าหนี้ต่อส่วนของเจ้าของมากเกิน 1 เท่า อาจถือได้ว่าบริษัทก่อหนี้มากเกินไป
ซึ่งเรื่องนี้ธนาคารก็อาจไปใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการอนุมัติเงินกู้เช่นกัน
นอกจากนี้ เราสามารถนำข้อมูล สินทรัพย์หรือหนี้สิน ไปประยุกต์ใช้ กับงบกำไร-ขาดทุน ที่ได้อธิบายไปแล้วในตอนที่ 1
ตัวอย่างเช่น
อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ (Return on Assets)
อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity)
เพื่อวิเคราะห์ว่า บริษัทสามารถบริหารสินทรัพย์ หรือทุนให้เกิดกำไร ได้มากน้อยแค่ไหน นั่นเอง
ถ้าอ่านจนถึงตอนนี้แล้วผู้อ่านเข้าใจทั้งหมด ก็น่าจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องงบดุลพอสมควร และก็น่าจะสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในการลงทุน หรือการทำธุรกิจของเราได้ดีมากขึ้น..
----------------------
ครั้งแรกของประเทศไทย กับแพลตฟอร์ม #SocialKnowledge ที่เชื่อมโยงความคิดดีๆ ของทุกคนเข้าด้วยกัน แอปพลิเคชันนี้ชื่อ "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.