อะไรคือ ธนาคารเวลา?

อะไรคือ ธนาคารเวลา?

19 ก.ย. 2018
อะไรคือ ธนาคารเวลา? / โดย ลงทุนแมน
เมื่อเราจะฝากอะไรไว้กับธนาคารสิ่งนั้นก็มักจะเป็นเงิน
แต่รู้ไหมว่า ในโลกนี้
มีธนาคารบางแห่งที่ไม่ได้รับฝากเงิน แต่เป็นการรับฝากเวลา..
ทำไมจึงต้องรับฝากเวลา?
วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
ธนาคารเวลา (Time Bank) เป็นแนวคิดในการรับฝากเวลาแทนเงิน เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1973 โดยคุณเทรุโกะ มิซุชิมะ ผู้มีแนวคิดที่ว่า ปกติเวลาที่เราไปทำงาน เราจะได้เงินเป็นการตอบแทน
แต่คราวนี้คุณเทรุโกะบอกว่า ตอนที่เราทำงานช่วยเหลือผู้อื่นเราควรที่จะขอเปลี่ยนจากเงินเป็นเวลา แล้วนำเวลาไปออมในบัญชีธนาคารของเรา
เหตุผลก็เพื่อในอนาคต ถ้าเราต้องการให้คนอื่นมาช่วยเราบ้าง ก็เพียงแค่ไปเบิกเวลาจากธนาคารที่เราฝากเวลาไว้แล้วธนาคารก็จะส่งคนที่เป็นสมาชิกมาช่วยเหลือเราตามเวลาที่เราฝากไว้นั่นเอง
ซึ่งสมาชิกที่มาช่วยก็ได้เวลาเป็นการตอบแทนเพื่อไปฝากในบัญชีอีกทีหนึ่ง ซึ่งเวลาที่ฝากไว้นี้ เราอาจจะนำมาใช้เลย หรือเก็บไว้ใช้ในอนาคตก็ได้
เมื่อแนวคิดนี้เริ่มแพร่กระจายออกไป รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้เข้ามาสนับสนุนเพราะเล็งว่า ธนาคารเวลาน่าจะช่วยแก้ปัญหาของสังคมสูงวัยของประเทศได้เมื่อเวลาที่ผู้สูงอายุต้องการคนมาดูแล
เรื่องนี้ทำให้ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศแรกในโลกที่มีธนาคารเวลา
ปัจจุบัน ธนาคารเวลามีอยู่ใน 34 ประเทศ เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีจำนวนกว่า 500 แห่ง และในสหราชอาณาจักรมีจำนวนกว่า 300 แห่ง
สำหรับประเทศไทยนั้น ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยกระทรวงทรัพยากรและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบธนาคารเวลาในต่างประเทศ เพื่อมาปรับใช้กับประเทศไทยในอนาคต
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุหรือคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ในปี 2560 อยู่ที่ 15.5% เพิ่มจากปี 2550 ที่ 10.6% ของประชากรทั้งหมด
และคาดว่าในปี 2564 สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ 20% หรือเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสมบรูณ์ (Aged society)
ขณะที่ในปี 2574 สัดส่วนผู้สูงอายุจะอยู่ที่ 28% ของประชากรทั้งหมดจนทำให้สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society)
เมื่อถึงเวลานั้น ถ้าผู้สูงอายุไม่มีคนมาดูแลก็อาจจะเจอกับความยากลำบากในชีวิตได้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะให้มีธนาคารเวลาในประเทศไทย
เรื่องอาจให้ข้อคิดเราได้ว่า
ถ้าเรามองในมุมของตัวเรา จริงๆ แล้วทุกคนก็มีธนาคารเวลาเป็นของตนเองตั้งแต่เกิด เพราะทุกวันเราจะมีเวลาในบัญชีของเรา 86,400 วินาทีเท่ากันหมดทุกคนไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนแค่ไหน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเวลาในบัญชีของเราทุกคน ก็คือ เราถูกกำหนดให้ใช้เวลาตามจำนวนนี้เท่านั้น
เราไม่สามารถใช้เกินกว่าที่ธนาคารกำหนดมาให้ เพราะต้องรอให้เวลาของวันใหม่เข้ามาในบัญชีก่อน
แต่ในเวลาเดียวกันถ้าเราใช้ไม่ครบหรือใช้ไม่เต็มที่ ผลขาดทุนก็จะตกอยู่ที่ตัวเรา เพราะเราไม่สามารถถอยหลังเพื่อกลับไปใช้มันได้อีก
โดยที่ทุกๆ คืน เวลาในบัญชีของเราจะถูก reset ใหม่ให้ทุกครั้ง
จริงๆ แล้วเราเคยถามตัวเองไหมว่า ที่ผ่านมาเราได้ใช้เวลาในบัญชีเราในแต่ละวันคุ้มค่าหรือยัง
หลายครั้งเรามัวแต่ใส่ใจความคิดเห็นของคนอื่นมากจนลืมไปหรือเปล่า ว่าจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น
หลายครั้งเราหักโหมทำงานอย่างหนักจนลืมดูแลสุขภาพ หรือแม้แต่ได้ทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลังหรือไม่
หลายครั้งเราบอกกำลังฆ่าเวลา แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราฆ่าอาจไม่ใช่เวลาแต่เป็นอนาคตของเราหรือเปล่า
หลายครั้งเราอยากย้อนเวลาไปหาคนที่เรารัก ไม่ว่าครอบครัวหรือเพื่อน เพื่อบอกสิ่งที่เราไม่ได้บอกคนเหล่านั้น
แต่ในความเป็นจริงเวลาย้อนกลับมาไม่ได้..
ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ในวันนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้ใช้เวลาในบัญชีของเราคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อที่ตัวเราจะได้ไม่ต้องเสียใจ เมื่อวันที่เราอาจไม่มีเวลาทำสิ่งที่เราอยากทำแล้วนั่นเอง..
----------------------
ครั้งแรกของประเทศไทย กับแพลตฟอร์ม #SocialKnowledge ที่เชื่อมโยงความคิดดีๆ ของทุกคนเข้าด้วยกัน แอปพลิเคชันนี้ชื่อ "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.